คนบางคนที่ครองความโสดอย่างเหนียวแน่นมายาวนาน ราวกับกลัวใครมาแย่งตำแหน่งนางงามคานทองไป โสดตั้งแต่เกิด โสดสนิท โสดจนเพื่อนๆ ที่คบกันมานานเปลี่ยนแฟนกันไปกี่คนแล้วก็ไม่รู้ เพื่อนบางคนก็เริ่มทยอยแต่งงาน ทยอยมีลูก แต่บางคนก็ยัง…โสด!!!

ถึงอย่างนั้น ทุกวันนี้บางคนก็ใช้ชีวิตอย่างราบรื่นดีนะ ไม่ได้กระตือรือร้นที่จะไขว่คว้าหาความรักแต่อย่างใด ไม่ได้ไปเรียกร้องกับใครที่ไหนว่าทำไมยังโสด หรือเรียกได้ว่าไม่อยากเอาตัวไปเฉียดกับความรักเลยดีกว่า ถ้าบอกว่าเกิดมาไม่เคยเจอคนที่รู้สึกถูกใจหรือเข้ามาจีบเลย แต่คนบางคนมีปมเจอเหตุการณ์รักไม่สมหวัง รักที่ทรยศหรือทะเลาะเบาะแว้งอย่างรุนแรงกันคนรัก ได้รับข่าวร้าย เช่น การจากไปของคนที่ตนรัก ความเครียดสะสมเป็นเวลานานหลายปี จนทำให้กลัว “ความรัก” จน “ไม่กล้ารักใคร”

เอาล่ะ…เรามารู้จักกับโรคกลัวความรักกันเถอะ โรคกลัวการตกหลุมรัก เรียกได้อีกชื่อว่า “โรคกลัวความรัก” (Philophobia)มาจากภาษากรีก 2 คำ คือ “Philo” แปลว่า ความรัก และคำว่า “Phobia” ที่แปลว่า ความกลัว เป็นโรคในกลุ่ม Phobia โรคกลัวการตกหลุมรัก
เป็นสภาวะที่กลัวการตกหลุมรัก กลัวการได้รับความรัก และปฏิเสธความรู้สึกพิเศษที่มีกับบางคน ซึ่งการตกหลุมรัก หรือการสร้างความสัมพันธ์ จะทำให้คนกลุ่มนี้รู้สึกไม่สบายใจ และเลือกที่จะวิ่งหนีความรัก หลีกเลี่ยงโอกาสที่จะทำให้ตกหลุมรัก หรือหลีกเลี่ยงการไปสถานที่ต่าง ๆ ที่มีคนรัก เป็นต้น

ผู้ป่วยโรคกลัวความรักจะรู้สึกกลัวการตกหลุมรักหรือไม่กล้ามีความสัมพันธ์ทางอารมณ์กับผู้อื่นโดยไม่ทราบสาเหตุ และอาการอาจมีความรุนแรงถึงขั้นส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต
ซึ่งความกลัวที่เกิดขึ้นสามารถส่งผลต่อทั้งร่างกายและอารมณ์ แม้ตัวผู้ป่วยเองก็ตระหนักได้ว่าความกลัวที่เกิดขึ้นนั้นไม่มีเหตุผล แต่ก็ไม่สามารถควบคุมความกลัวดังกล่าวได้อยู่ดี

โดยเมื่อนึกถึงการตกหลุมรักก็อาจรู้สึกกลัวขึ้นมาอย่างรุนแรงจนมีภาวะตื่นกลัว และอาจมีอาการที่สังเกตได้ เช่น หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า มีเหงื่อออก หัวใจเต้นเร็ว หายใจลำบาก ไม่สามารถทำกิจวัตรต่าง ๆ ได้ตามปกติ คลื่นไส้ เป็นต้น
สาเหตุของโรค Philophobia
- เหตุการณ์ในแง่ลบที่ฝังใจมาตั้งแต่เด็ก
- วัฒนธรรม หรือศาสนา ที่มีข้อห้ามเกี่ยวกับความรัก ศาสนาหรือขนบประเพณีของบางแห่ง
- การล้มเหลวในความรักซ้ำๆ มีรักเมื่อไหร่ก็ต้องเจ็บปวดและเลิกรากันไปทุกที
- รู้สึกว่าตัวเองหดหู่ เห็นคุณค่าในตัวเองต่ำ
ภาวะแทรกซ้อนของโรคกลัวความรักที่เห็นได้ชัดเลยก็คือ ผู้ป่วยที่มีอาการกลัวอย่างมากจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา เพราะหากปล่อยไว้อาจเสี่ยงทำให้ผู้ป่วยมีพฤติกรรมแยกตัวออกจากสังคม มีภาวะซึมเศร้าหรือภาวะวิตกกังวลได้ บางรายก็อาจเครียดจนหันไปพึ่งพาแอลกอฮอล์และยาเสพติด หรืออาจถึงขั้นพยายามฆ่าตัวตายเพื่อจบปัญหา
การรักษาโรคกลัวการตกหลุมรัก
- การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต : การทำกิจกรรมเพื่อคลายเครียด อาจช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลาย และสบายใจยิ่งขึ้น เช่น ออกกำลังกาย นั่งสมาธิ ฝึกการหายใจ เป็นต้น
- การบำบัดให้หายจากความกลัว : จิตแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาจะช่วยให้ผู้ป่วยเรียนรู้การรับมือกับความกลัวที่เกิดขึ้นด้วยการพูดคุย เพื่อชี้ให้เห็นถึงความคิด แนะนำให้เริ่มสร้างความสัมพันธ์จากจุดเล็กๆ น้อยๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป หรือแนะนำให้เริ่มจากการสร้างสัมพันธ์กับเพื่อนและคนใกล้ชิด
- การใช้ยา : หากผู้ป่วยมีความผิดปกติทางจิตชนิดอื่น ๆ ร่วมด้วย แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานยาต้านซึมเศร้า หรือยาคลายความวิตกกังวล ควบคู่ไปกับการบำบัดด้วยการพูดคุย

ทั้งนี้หากเกิดจากประสบการณ์ในอดีต หมอจะให้คำแนะนำเพื่อการปรับตัว และสร้างความมั่นใจให้สามารถใช้ชีวิตปกติร่วมกับผู้อื่นได้เพื่อขจัดความกลัวไปทีละน้อยอีกด้วย
ติดตามบทความ good health ในทุกสัปดาห์ได้ที่ howto-healthy.com