การดูแล Aphenphosmphobia ยังไงให้กลับมาใช้ชีวิตปกติ
ความกลัวในสิ่งที่น่ากลัวและกลัวอย่างพอดีจึงจำเป็นและมีประโยชน์ แต่ความกลัวสิ่งของหรือสถานการณ์บางอย่างที่มากเกินไปทั้งที่ไม่น่ากลัวและคนทั่วไปก็ไม่กลัวกัน แต่ก็เกิดความกลัวจนทำให้เป็นทุกข์มาก ทำให้เสียงานเสียการ
และทำให้เกิดพฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา ในกรณีนี้ถือว่าเป็นโรคกลัว (phobia) ซึ่งจัดเป็นความผิดปกติทางจิตเวชอย่างหนึ่งซึ่งโรคกลัวก็จะหลายประเภท หลายชนิดที่แยกย่อยออกมาอีก ในที่นี้จะขอยกประเด็นเกี่ยวกับโรคกลัวการถูกสัมผัส (Aphenphosmphobia)

โรคกลัวการถูกสัมผัส (Aphenphosmphobia) เป็นโรคเกี่ยวกับความวิตกกังวลที่มีลักษณะกลัวการถูกสัมผัสร่างกาย โดยเฉพาะกับเพศตรงข้ามจะรู้สึกขยะแขยง หรือรังเกียจแบบผิดปกติ หรือคนแปลกหน้าที่ตัวผู้ป่วยไม่ได้รับการยินยอม ทำให้เกิดความไม่สบายใจเมื่อต้องอยู่ในที่คนพลุกพล่าน
สาเหตุของโรคมาจากผู้ป่วยเจอเหตุการณ์สะเทือนจิตใจตั้งแต่เยาว์วัย หรือช่วงวัยกลางคน เช่น การถูกละเมิดทางเพศ การใช้ความรุนแรง การทำร้ายร่างกายหรือการถูกกักขัง หรือมีอดีตที่เลวร้ายจากการถูกดูถูกรูปร่าง เช่น หุ่น สีผิว ทรงผม หรือผลจากโดนกลั่นแกล้งที่รุนแรงในวัยเด็ก ทำให้ส่งผลที่จะเกิดโรคนี้ได้มากขึ้นเช่นกัน
อาการที่เกิดขึ้นเมื่อคุณโดนสัมผัสร่างกาย
- รู้สึกกลัว วิตกกังวล และอารมณ์โกรธทันที เมื่อถูกการสัมผัส บางรายอาจจะมีการทำร้ายผู้อื่นเข้ามาด้วย เนื่องจากการถูกเนื้อต้องตัวไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ
- เมื่อถูกสัมผัสร่างกาย จะทำให้อัตราการเต้นของหัวใจถี่ขึ้น เลือดสูบฉีดแรงขึ้น
- เหงื่อออก ร่างกายรู้สึกร้อนๆ หนาวๆ
- เป็นลม หมดสติกะทันหัน
- มีความอ่อนไหวในจิตใจสูง และรู้สึกขยะแขยงหากใครเข้าใกล้

วิธีการรักษาผู้ป่วย
- การบำบัดด้วยเทคนิค (Cognitive behavioral therapy ; CBT) ที่นักบำบัดจะทำการพูดคุยกับผู้ป่วยในเบื้องต้น และช่วยปรับพฤติกรรม รวมถึงกระบวนการคิดในด้านลบของคุณเมื่อถูกสัมผัส ให้อยู่ในความรู้สึกที่ปลอดภัย ปลดล็อกสิ่งที่เป็นปมในใจออกมาได้เร็วขึ้น เนื่องจากคนที่กลัวการถูกสัมผัสมีโอกาสซึมเศร้าได้ง่าย
- การบำบัดด้วยการให้ผู้ป่วยเผชิญการสัมผัสร่างกาย โดยอาจให้คนแปลกหน้าร่วมการบำบัดสัมผัสร่างกายผู้ป่วย การรักษานี้มักใช้เวลา 1 สัปดาห์ หรืออาจเป็นเดือนขึ้นอยู่แต่ละบุคคล ประสบการณ์ชีวิตที่แตกต่างกัน และเป็นการรักษาที่ควบคุมโดยนักบำบัดอย่างใกล้ชิด ด้วยสภาพแวดล้อมรอบข้างที่ปลอดภัย
- ฝึกการหายใจทำจิตใจให้ผ่อนคลาย โดยการออกกำลังกายที่เพิ่มการผ่อนคลายเข้าช่วย เช่น ไท่เก๊ก พิลาทีส โยคะทุกชนิด หรือนั่งสมาธิก็สามารถช่วยผ่อนคลายสิ่งที่อยู่ในจิตใจได้ นอกจากนี้มีการนำการใช้วิธีการหายใจเข้าช่วยโดยการสูดลมหายใจเข้าให้กะบังลมยกตัวขึ้นและกลั้นหายใจเอาไว้ นับ 1-5 อย่างช้าๆ จากนั้นให้หายใจออกโดยให้กะบังลมแฟบลงในลักษณะที่ผ่อนคลายที่สุด โดยให้หายใจเข้าและออกอย่างช้าๆ ทุก 3 วินาที รวมการทำแบบนี้ซ้ำๆ ด้วยการหายใจเข้าและออก ต้องนับเป็นหนึ่งแล้วทำให้ได้ประมาณ 10 ครั้งจนกว่าจะรู้สึกหายใจอิ่ม และทั่วท้องมากยิ่งขึ้น

โรคนี้ผู้เขียนเชื่อได้ว่าในช่วง COVID-19 มีใครหลายคนกลัวถูกสัมผัสกันมากขึ้นจนวิตกกังวลเกินเหตุ และยังมีหลายคนที่เผชิญกับโรคนี้ การผ่อนคลายทางจิตใจ และการรู้จักคุณค่าตนเอง รวมถึงคนที่รักเรา จะช่วยให้สุขภาพจิตของเราดีขึ้น และเราสามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อย่างมีความสุข และปราศจากความกลัวอีกด้วย